top of page
Search

การพิมพ์สีบนผ้าโดยไม่ใช้สารเคมี


อุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอมีการใช้สารเคมีมาก ตั้งแต่การเตรียมเส้นใย ย้อม พิมพ์ และตกแต่ง ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงานไปจนถึงผู้บริโภคสินแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาลอีกด้วย จากจุดนี้เองจึงมีการนำสีธรรมชาติกลับมาใช้แทนสีสังเคราะห์ในการย้อมสิ่งทอมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาก็คือ สีจากธรรมชาติ เช่น ครั่ง จะติดได้ดีบนเส้นใยขนสัตว์ ไหม หนังฟอก แต่ไม่สามารถติดสีบนเส้นใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์


ส่วนเส้นใยเซลลูโลส เช่น ฝ้าย จะต้องอาศัย สารช่วยติด หรือ มอร์แดนท์ มาช่วยให้โมเลกุลสีติดบนเส้นใยได้ดีขึ้น แต่พบว่าสารมอร์แดนท์ส่วนใหญ่พบสารตกค้างประเภทโลหะหนักเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ ซึ่งจะส่งผลกระทบปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ ดร.กาญจนา ลือพงษ์ ดร.ไพรัตน์ ปุญญาเจริญนนท์ และอาจารย์วิโรจน์ ยิ้มขลิบ ทีมวิจัยจากคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จึงได้ทำการศึกษา "การพิมพ์สีธรรมชาติจากครั่ง บนผ้าฝ้ายทอและผ้าโพลีเอสเตอร์โดยไม่ใช้สารมอร์แดนท์" เพื่อลดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ

การศึกษาเริ่มจากการนำครั่งดิบจากต้นจามจุรี ของจังหวัดเลย มาบดและร่อนผ่านตะแกรงให้ได้ขนาดอนุภาคใกล้เคียงกัน ก่อนนำมาสกัดสารให้สีด้วยตัวทำละลายไดเอทธิลอีเธอร์ เมื่อสกัดสารให้สีจากครั่งแล้วนำมาผสมกับสารข้นประเภทกัม นำสารละลายที่ได้ปั่นจนเป็นเนื้อเดียวกันก่อนนำไปใช้เป็นแป้งพิมพ์ สำหรับพิมพ์บนผ้าฝ้ายทอ และโพลีเอสเตอร์ จากนั้นนำไปผนึกสีด้วยความร้อน

ผลการศึกษาพบว่าผ้าพิมพ์สารให้สีจากครั่ง ให้เฉดสีม่วงแดงสวยงามทั้งบนผ้าฝ้ายทอ และโพลีเอสเตอร์ ที่มีความคมชัดของลวดลาย และมีความคงทนของสีต่อการขัดถู ในระดับ 3-4 และความคงทนของสีต่อแสง ในระดับ 4 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงดี ส่วนด้านค่าความคงทนของสีต่อการซัก อยู่ที่ระดับ 2 (ระดับปานกลาง)

เมื่อนำไปพิมพ์ลงบนผ้าให้ผิวสัมผัสคล้ายการพิมพ์ผ้าด้วยสารประเภทพิกเมนท์ (pigment) และมีวิธีการพิมพ์ - ผนึกสีที่ง่าย ผิวสัมผัสของผ้าพิมพ์ไม่แข็งกระด้าง สามารถนำไปใช้งานตัดเย็บได้จริง ที่สำคัญ ปลอดภัยต่อผู้ซื้อ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมครับ


4 views0 comments

Comments


bottom of page